วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตอบคำถาม


คำถาม : คนโดยมากมักพูดกันว่าพอลงนั่งสมาธิ จิตจะไม่นิ่ง คอยวิ่งออกไปนอกตัวอยู่เสมอ ไม่สามารถกำหนดความรู้สึกให้อยู่ในเรื่องเดียวได้ ไม่ทราบว่าจะมีวิธีใดที่ง่ายในการปฏิบัติ หรือมีกุศโลบายใดบ้างที่จะช่วยให้จิตสงบได้เร็ว

ตอบ :  อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า การจะทำให้จิตนิ่งอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้น หลายๆ ขณะในแต่ละวัน เราก็ต่างทำได้อยู่แล้ว เช่นเวลาอ่านหนังสือ  เวลาขับรถ หรือเวลาฟังครูสอนในห้องเรียน จิตของเราต่างจดจ่ออยู่โดยเราไม่รู้ตัว  เพราะถ้าเราไม่จดจ่อกับสิ่งนั้น เราจะอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง หรือหากไม่จดจ่อกับการขับรถ ขาดสติอาจเกิดอันตรายได้ในช่วงเสี้ยววินาที  การมีสติอยู่กับสิ่งใดๆก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราจะมีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้นานแค่ไหน โดยส่วนตัวและจากการได้ปฏิบัติมาหลายวิธีเห็นว่า
การจะลงนั่งทำสมาธิแล้วบังคับให้จิตนิ่งเลยทันที หรือจะเอาแต่นั่งสมาธิเพียงอย่่างเดียว ไม่ใช่ประเด็นหลักในการปฏิบัติธรรม กล่าวคือ
การจะบังคับจิตให้สงบนิ่ง ต่างต้องอาศัยความละเอียดอ่อนโยนของจิต หากจิตของผู้นั้นยังหยาบกระด้าง ไม่สงบ วิ่งไปโน่นมานี่อยู่ตลอดเวลา ก็ควรหันกลับมาสำรวจตัวเองเสียก่อน มองดูจิตของตนแล้วหันเข้าหาสิ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้จิตเราสงบเย็นได้เร็ว เช่น ไปสวดมนต์ อ่านหนังสือธรรมะ ลงมือปฏิบัติด้วยการเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่น หรือกับสัตว์ต่างๆ เช่น หมา แมว  หากได้ลงมือทำบ่อยๆ ถี่ๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะตามมาเอง แต่ขอเน้นว่าเมื่อทำอย่าหวังผลว่า ตัวเองจะได้ในสิ่งที่ตนหวังไว้หรือไม่ก็ตาม อย่าคาดหวัง ขอให้ทำด้วยจิตที่อยากจะทำ ไม่มีใครบังคับให้ทำ และมีเมตตา ไม่นานเกินรอ จิตจะเริ่มอ่อนโยนมากขึ้น และเมื่อเวลานั้นมาถึงการปฏิบัติสมาธิ ก็จะเป็นเรื่องง่าย อย่าไปมุ่งเน้นเอาเป็นเอาตายว่าจะต้องนั่งสมาธิให้จิตนิ่ง ให้จิตสงบให้ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นปฏิบัติธรรมเพื่อเพิ่มความเครียดให้กับตนเอง  ยิ่งนั่งยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งนั่งกลับกลายเป็นเพิ่มกิเลส แทนที่จะได้รับความสงบ ร่มเย็นในใจ แทนที่จะได้อารมณ์จิตที่ตั้งมั่น หนักแน่นมากขึ้น กลับสวนทางกันเสียหมด
และนอกจากนี้  การจะเข้าถึงธรรมให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะอาศัยแค่การนั่งแต่เพียงอย่างเดียว    ยังมีหนทางปฏิบัติอยู่อีกมากมายหลายวิธี ที่จะนำให้ผู้นั้นเข้าถึงธรรมะได้ เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น การแบ่งปัน การให้ทาน การรักษาศีล การได้พูดคุยกับนักปราชญ์  การมีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ การขออโหสิกรรม การเตือนให้สติเมื่อเห็นว่าผู้นั้นกำลังทำผิดออกนอกลู่นอกทางฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่จะมาผนวกรวมเข้าในตัวเรา ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติที่ต้องอดทน มุ่งมั่น ตั้งใจ
มีหลายคนที่เข้าใจว่าต้องนั่งให้จิตนิ่ง และก็ล้วนแต่เสียเวลาให้ผ่านไปนานหลายปี กว่าจะมาตระหนักได้ว่า ไม่เกิดการพัฒนาทางปัญญาขึ้นเลย ทางพุทธศาสนามีคำเรียกว่า "นั่งนิ่งเป็นสมาธิตอไม้  หรือเหมือนหินทับหญ้า
ขอให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไป ก็จะค่อยเข้าใจได้เอง หรือขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ก็ได้

การทำสมาธิ


หลักการทำสมาธิ
1. สำหรับผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน
2. ผู้ที่เคยเรียนรู้เรื่องจักระมาแล้ว หรือที่เคยเรียนวิชานี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------
1. ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน อาจเริ่มต้นง่ายๆด้วยการหำหนดความรู้สึกไว้ที่กลางกระหม่อม
เฝ้ากำหนดความรู้สึกไว้เรื่อยๆ เบาสบาย แบบไม่เพ่ง ผ่อนคลาย ฝึกใหม่ๆ ไม่ต้องทำนาน เพียง 5 นาทีก็พอ ระยะแรกๆ ควรฝึกทำให้สม่ำเสมอแม้ว่าจิตจะนิ่งบ้าง ไม่นิ่งบ้าง ก็อย่าไปเครียดจริงจังจนเกินเหตุ หมั่นทำไปเรื่อยๆ จิตจะเริ่มคุ้นเคยกับจุดฐานที่ตั้ง
-------------------------------------------------------------------------------------------------
2. สำหรับผู้ที่เคยเรียนรู้เรื่องจักระมาแล้ว หรือที่เคยเรียนวิชานี้มาแล้ว
ให้เอาความรู้สึกไปกำหนดตรงบริเวณกลางตัว แนวเดียวกับหัวใจ (จักระ 4) กำหนดนิ่งอยู่ไปเรื่อยๆ

บททดสอบตนเอง สำหรับผู้ที่เคยเรียนเรื่องจักระ ให้ลองสังเกตดูที่จักระ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เช่น แสง สี ขนาด ฯลฯ ดูการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งที่เริ่มปฏิบัติใหม่ เปรียบเทียบกับปัจจุบันว่าแตกต่างกันในด้านใด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การเรียนรู้ทางจิตไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอย่างใดขึ้นกับตัวเรา ขอให้ตระหนัก และเตือนตนเองไว้เสมอว่า อย่าไปหลง ยึดติดกับสิ่งที่เห็น ได้ยิน หรืิอมีจิตสัมผัสใดๆ ก็ตาม ....
"เมื่อรู้แล้ววางได้ ไม่ไปอยาก .... การปฏิบัติของท่านจะค่อยๆก้าวหน้าทีละน้อย"